อะโวคาโด้ : ปลูกก่อนรวยก่อน

อะโวคาโด้ พันธุ์ แฮส

อะโวคาโด้ เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาด กลางถึงใหญ่  แม้ว่าจะถูกจัดเป็นไม้ไม่ผลัดใบแต่บางสายพันธุ์จะทิ้งใบช่วงสั้น ๆ ระหว่างออกดอก  ทรงพุ่มอาจเป็นพุ่มต่ำ ทึบ สมมาตร หรือสูงชะลูด และไม่สมมาตร  กิ่งเปราะ หักง่ายเมื่อโดนลม หรือเมื่อติดลูกมาก ๆ

ใบ

ใบยาว 3-6 นิ้ว รูปใบมีหลายแบบ ทั้งทรงรีรูปไข่  รีกว้างรูปไข่  และใบหอก ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์  โดยมากใบอ่อนมักมีขน และสีออกแดง  ส่วนใบแก่มักเรียบ สีเขียวเข้ม

ดอก

ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ (มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย)  สีเขียวอมเหลือง  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  1-1.3 ซ.ม.

ผล

ผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ หุ้มด้วยเนื้อผลที่มีลักษณะเหมือนเนย (buttery pulp)  เปอร์เซ็นต์ไขมันในเนื้อมีตั้งแต่ 3-25%  ผิวของเปลือกผล อาจเรียบหรือขรุขระ  เมือสุกอาจเป็นสีเขียว  ดำ ม่วง หรือ ออกแดงขึ้นกับสายพันธุ์ ทรงผล มีตั้งแต่ รูปทรงรี หรือคล้ายปีรามิด   ผลโดยมากมักจะไม่สุกจนกว่าจะร่วง หรือถูกเด็ด ออกจากต้น  โดยมาก การเก็บเกี่ยวผลจะดูจากช่วงเวลาและขนาดของผล เป็นหลัก

ใบอะโวคาโด้
ใบอะโวคาโด้
ดอกอะโวคาโด้
ดอกอะโวคาโด้
ผลอะโวคาโด้
ผลอะโวคาโด้

การปลูกอะโวคาโด้

อะโวคาโด้  เป็นพืชชอบดินระบายน้ำดี ไม่ทนน้ำท่วมขัง ควรปลูกในที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง  หรือควรยกร่องปลูก  ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน  แต่สามารถปลูกได้ทั้งปี ถ้ามีระบบชลประทาน   ระยะปลูก  8×6 เมตร ถึง 8×8 เมตร สำหรับพันธุ์  รูเฮิล (Ruehle), ปีเตอร์สัน (Peterson), แฮส (Hass), และ บัคคาเนีย (Buccanaer)  และ 8×10  สำหรับพันธุ์  บูธ 7 (Booth 7), บูธ 8 (Booth 8) และ ฮอล (Hall)

การปลูก ก่อนปลูกให้นำต้นพันธุ์ ออกไว้กลางแจ้ง เพื่อปรับสภาพสัก 2-3 วัน ขุดหลุมขนาดกว้างกว่าดินที่มากับต้นพันธุ์ เล็กน้อย  นำต้นลงปลูกโดยให้โคนต้นสูงเท่ากับหรือสูงกว่าระดับผิวดินเล็กน้อย  เพื่อป้องกันปัญหาโคนเน่า กลบดิน แล้วใส่ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ 1 กำมือ  โรยบนดิน  ค้ำต้นด้วยไม้ไผ่   ใช้ฟาง  แกลบ หรือเศษไม้  คลุมรอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น   ให้น้ำทุกวันวันละ 15 ลิตร หรือวันเว้นวัน วันละ 30 ลิตร จนถึงอายุประมาณ 1 ปี  จึงลดการให้น้ำเหลือ สัปดาห์ละครั้ง  สำหรับต้นใหญ่ให้น้ำทุก 15 วัน  การป้องกันโคนต้นเน่า  ให้ โรยสาร Super Voga บาง ๆ รอบโคนต้น  อาจใช้ร่วมกับสารเคมี เมทเทลซิล (Metalexyl) 100 กรัม หรือ ไรโดมิล (Ridomil)  50 กรัม ต่อต้นทุก  3 เดือน หรือใช้ ชีวภัณฑ์ กลุ่ม ไตรโคเดอร์มา หรือ บาซิลลัส

การให้ปุ๋ย  ให้ปุ๋ย ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแตสเซียม (K) ในอัตราส่วน 3-1-1 โดยผสมปุ๋ยยูเรีย 1 ส่วนต่อปุ๋ยสูตรเสมอ (15-15-15)  2 ส่วน  สลับกับปุ๋ยโวก้าอินทรีย์   ปริมาณปุ๋ยในปีแรก เริ่มให้หลังปลูก 2 เดือน ให้ปุ๋ย ต่อต้นประมาณ 200 กรัม ทุก 3 เดือน  ปีที่ 2 ให้ 400 กรัม  สำหรับ ปีที่ 3  หรือปีต่อ ๆ ไปซึ่งเป็นช่วงที่อะโวคาโดให้ผลผลิต  ให้ปุ๋ย ปริมาณ  500 กรัม  ช่วงต้นฝนกับกลางฝน  ช่วงปลายฝน งดให้น้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกดอก

การใส่  ปุ๋ยอินทรีย์โวก้า เสริมสารแอคทีฟซิลิคอน  นั้นเป็นประโยชน์มากต่อต้นอะโวคาโด้ เนื่องจากแอคทีฟซิลิคอน จะถูกอะโวคาโด้ดูดเข้าไปสะสมตามผนังเซลของพืชทำให้ ต้นอะโวคาโด้ ต้านทานโรคเน่าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ แอคทีฟซิลิคอนยังช่วย ปรับสภาพดินบริเวณรากให้ร่วนซุย ทำให้น้ำ อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้นเป็นการป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบรากอีกทางหนึ่ง

สำหรับอะโวคาโด้ที่เสียบยอดนั้น   ถ้าดูแลดีจะให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 3 ส่วนอะโวคาโด้เพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 8   หากต้นยังไม่โตพอ ในช่วงปีแรก ๆ ควรปลิดผลทิ้งเพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางต้นให้เต็มที่เสียก่อน

การตัดแต่งกิ่ง  เมื่ออะโวคาโด้มีความสูงเลยเข่าขึ้นมาให้ตัดยอดทิ้งให้เหลือแต่ตอ  จะทำให้อะโวคาโด้แตกยอดขึ้นมาใหม่ 3-4 ยอด  ในช่วงการเจริญเติบโต ให้ตัดกิ่งแห้ง เป็นโรค กิ่งทับซ้อนกัน กิ่งบังแสง กิ่งกระโดง ออก  โดยเน้นให้แผ่ไปด้านข้าง และตัดให้ทรงต่ำเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว  การตัดแต่งกิ่งจะทำอีกครั้ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยตัดกิ่งแห้ง เป็นโรค และช่อของกิ่งผล (ควั่น) ที่ติดอยู่บนต้น  หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้วก็ให้ปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย เพื่อบำรุงต้น

โรคที่สำคัญในอะโวคาโด คือโรครากเน่า  เมื่อเกิดแล้วบริเวณปลายกิ่งจะเหี่ยวจนถึงโคนต้น ป้องกันโดยการระบายน้ำให้ดี และใช้ต้นตอทนโรค คือพันธุ์ Duke-7   สำหรับกิ่งพันธุ์ในโรงเรือน ผสม เด็กซอน (Dexon)  20ppm ใส่ในน้ำรดกิ่งพันธุ์  อีกโรคคือ โรคแอนแทรกโนส  ซึ่งเข้าทำลายได้ทั้งใบและผล  จะสังเกตุได้จากจุดสีน้ำตาล บริเวณใบ  การป้องกัน เมื่อมีการแตกใบอ่อนแล้วให้ฉีด คาร์เบนดาซิน หรือไซเปอร์เมททริน เพื่อป้องกันโรค แมลง

การผสมเกสรของอะโวคาโด้

โดยปกติ ดอกของอะโวคาโด้เมื่อบานครั้งแรกจะยังไม่พร้อมผสมพันธุ์ แต่จะพร้อมผสมพันธุ์เมื่อบานครั้งที่ 2    เราสามารถแบ่งสายพันธุ์ อะโวคาโด้  ได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการบานของดอก คือ

กลุ่ม A  :  มีการบานของดอกคือจะบานครั้งแรกในตอนเช้า  เกสรตัวเมียนั้น  พร้อมรับละอองเกสร แต่ตัวเกสรตัวผู้นั้นไม่พร้อมผสม ดอกจะหุบในตอนเที่ยงและบานอีกครั้งในในตอนบ่ายวันรุ่งขึ้นเกสรตัวผู้และตัวเมียจึงพร้อมผสม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 30 ชั่วโมง (ค่อนข้างนาน) ทําให้อะโวกาโดในกลุ่มนี้จึงติดผลยากได้แก่ พันธุ์แฮส (Hass) พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton) ปีเตอร์สัน (Peterson)   ลูล่า(Lula) มอนโร(Monroe)  ปากช่อง 1-14 ปากช่อง 2-4 ปากช่อง 2-6 เป็นต้น

กลุ่ม B  :  มีการบานของดอกคือจะบานครั้งแรกในตอนบ่าย เกสรตัวเมีย นั้นพร้อมรับละอองเกสร แต่ตัวเกสรตัวผู้นั้นไม่พร้อมผสม และดอกจะบานอีกครั้งในในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เกสรตัวผู้และตัวเมียจึงพร้อมผสม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง (ระยะเวลาสั้นกว่า)  ทําให้อะโวกาโดในกลุ่มนี้จึงติด ผลได้ค่อนข้าง ดีกว่า   ได้แก่ พันธุ์ บัคคาเนีย (Buccanaer) บูธ 7 (Booth 7) บูธ 8  (Booth 8) เฟอร์เต้ (Fuerte)  ฮอล (Hall) รูเฮิล (Ruehle) ปากช่อง 2-8 ปากช่อง 2-5 ปากช่อง3-3  เป็นต้น

การผสมพันธุ์ในต้นเดียวกันจะใช้ลมเป็นหลัก ส่วนการผสมข้ามต้นจะใช้แมลง เช่นผึ้ง มดตะนอย  เป็นหลัก   หากต้องการเพิ่มการติดผลของอะโวคาโด้  โดยเฉพาะสายพันธุ์กลุ่ม A ควรปลูก พันธุ์กลุ่ม A ร่วมกับ กลุ่ม B  เช่นปลูกพันธุ์ Hass ร่วมกับ Fuerte   แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว เกษตรกรก็จะปลูกแค่พันธุ์ Hass เพียงอย่างเดียว เนื่องจากสายพันธุ์กลุ่ม B นั้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก การปลูกพันธุ์กลุ่ม B ทำให้ต้องลดจำนวนต้นของพันธุ์หลักกลุ่ม A ลง แม้ผลผลิตจะได้เพิ่ม แต่ผลผลิตของพันธุ์กลุ่ม B ที่ขายไม่ได้ราคา ก็อาจจะไม่คุ้มค่า

พันธุ์อะโวคาโด

พันธุ์อะโวคาโดที่รสชาติดีนั้น  เป็นพันธุ์ที่มี เปอร์เซ็นต์ไขมันค่อนข้างสูง ถึงสูง  โดยพันธุ์  แฮส (Hass) มีไขมัน ประมาณ 18-25%  เฟอร์เต้ (Fuerte) มีน้ำมัน 14-18% และพันธุ์ บัคคาเนีย มีน้ำมัน 12-14%  ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวจะมีผลต่อปริมาณไขมันมาก โดยผลอะโวคาโดที่อายุมากขึ้นจะสะสมไขมันมากขึ้นตามลำดับ

พันธุ์แฮส  (Hass)

ใบแหลมเรียว  ใบออกห่าง ๆ กัน  ผลรูปแพร์  ผิวขรุขระมาก  ผิวสีเขียวเข้ม  เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ  ผลมีขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ  200-300  กรัม  เนื้อสีเหลือง  เมล็ดเล็กถึงขนาดกลาง เปลือกผลค่อนข้างหนา ทนทานต่อการขนส่ง พันธุ์นี้ยังมีข้อดีอีกประการคือ เมื่อผลแก่แล้ว ก็ยังสามารถเลี้ยงอยู่บนต้นได้อีกนานหลายเดือน  ช่วงเก็บเกี่ยวผลเดือนธันวาคม –กุมภาพันธ์  มีไขมันสูงมาก คือ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า เป็นพันธุ์การค้าอันดับ 1 ของโลก  พันธุ์นี้ผลมีราคาแพงมากที่สุด  แต่ให้ผลดีในที่อากาศเย็น พื้นที่ปลูกที่เหมาะสมควรสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตรขึ้นไป ระยะปลูกที่แนะนำคือ 8×8 เมตร

อะโวคาโดพันธุ์ แฮส

บูช 7  (Booth-7)

ใบใหญ่เป็นมัน  ผลค่อนข้างกลมป้าน  ขนาดประมาณ 3 ผลต่อกิโลกรัม  ผิวผลค่อนข้างขรุขระ  สีเขียว  เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน  เมล็ดขนาดกลาง   เมื่อสุกผลมักจะตกกระ มีไขมัน  7-14  เปอร์เซ็นต์  ช่วงเก็บเกี่ยวผลประมาณวันที่ ตุลาคม ถึง  ธันวาคม อายุ 5 ปี 249 ผลต่อต้น  พันธุ์นี้ให้ผลผลิตดก ลำต้นขนาดใหญ่ ค่อนข้างทนต่อโรค  แต่ผลรสชาติปานกลาง

อะโวคาโด้ พันธุ์ บูธ 7
อะโวคาโด้ พันธุ์ บูธ 7

ปีเตอร์สัน  (Peterson)

เป็นพันธุ์เบา ให้ผลผลิตก่อนพันธุ์อื่น ๆ คือประมาณเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ลักษณะผลกลม  ใบเรียงซ้อนกันถี่ ๆ และเป็นมัน ใบอ่อนสีแดง ผลมีลักษณะกลม

อะโวคาโด้ พันธุ์ Fuerte
อะโวคาโด้ พันธุ์ Fuerte

เฟอร์เต้ (Fuerte) 

ลำต้นขนาดใหญ่ และแผ่กว้าง ผลรูปแพร์  ผิวขรุขระเล็กน้อย  ผิวสีเขียวเข้ม เนื้อสีเหลืองครีม เมล็ดขนาดกลาง น้ำหนักผลประมาณ  150-300  กรัม  รสชาติดีมาก แต่ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรค เปลือกผลบางทำให้ไม่ทนทานต่อการขนส่ง  ชอบอากาศเย็น แต่ไม่หนาว อากาศร้อนหรือหนาวเกินไปจะทำให้การออกดอกน้อยและไม่สม่ำเสมอ  เป็นพันธุ์กลุ่ม B ควรปลูกพันธุ์กลุ่ม A ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มการติดผล ช่วงเก็บเกี่ยวผลเดือนตุลาคม – ธันวาคม เป็นพันธุ์การค้าของโลก รอง ๆ จากพันธุ์ แฮส 

บัคคาเนีย (Buccaneer)

ผลมนรี ผลมีขนาดใหญ่ ถึง 3-4 ผลต่อกิโลกรัม ใบกว้างผิวใบไม่มัน ยอดเขียว  ผลแก่จะเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง  ผลดก ดูแลง่าย ขนาดต้นใหญ่และแผ่กว้าง  ระยะปลูกที่แนะนำคือ 10×10 เมตร

อะโวคาโด้ พันธุ์ บัคคาเนียร์
อะโวคาโด้ พันธุ์ บัคคาเนียร์
อะโวคาโด พันธุ์ บัคคาเนียร์

พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton)

ขนาดต้นค่อนข้างเล็ก  ใบเรียวยาว และจะสั้นกว่าพันธุ์ Hass ผลผิวขรุขระ ผลแก่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวเข้ม รสขาติมัน เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ใกล้เคียงพันธุ์ Hass  แต่มีข้อดีคือ ผลใหญ่กว่าแฮส และเมล็ดมีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักผลประมาณ 3 ผลต่อกิโลกรัม ผลดก สามารถปลูกในพื้นที่สูงน้อยกว่าพันธุ์ Hass คือประมาณ 300-400 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล และขนาดต้นที่เล็ก ทำให้จำนวนต้นที่ปลูกต่อไร่มีมากกว่า   พันธ์ุนี้มีข้อด้อยกว่าพันธุ์แฮส ตรงที่ผลแก่ไม่สามารถเลี้ยงอยู่บนต้นได้นานเท่าแฮส ทำให้ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้น 

อะโวคาโด พันธุ์พิงค์เคอร์ตัน
การเก็บเกี่ยวผลผลิต

โดยธรรมชาติแล้วอะโวคาโด จะไม่สุกบนต้น แต่จะสุกหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลออกจากต้นแล้ว ปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์  ซึ่งหมายความว่า หลังจากเก็บผลจากต้นแล้ว เราต้องทิ้ง หรือบ่ม อะโวคาโดไว้ที่อุณหภูมิห้อง 1 สัปดาห์ก่อนนำมารับประทาน  

การเก็บ ผลอะโวคาโด ที่อ่อนเกินไป นอกจากจะมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันน้อยแล้ว ยังทำให้ ไม่สามารถบ่มอะโวคาโดให้สุกได้ คือผลอาจจะเน่าไปเลยโดยที่ยังไม่สุก  ดังนั้นเกษตรกรควรมีหลักในการสังเกตุเพื่อเก็บผลผลิตที่แก่เพียงพอ  นอกจากนี้ เรายังสามารถ ทิ้งผลอะโวคาโด ที่แก่ ให้อยู่บนต้นได้อีกระยะหนึ่ง หากเก็บไม่ทัน หรือต้องการรอเวลา แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ด้วย   

การเก็บผลต้องให้ขั้วผลติดกับผลด้วย เพราะหากขั้วผลหลุดจากผล จะทำให้ผลเสียหายง่ายขณะบ่มให้สุก  วิธีหนึ่งในการตรวจสอบว่าผลอะโวคาโด พร้อมเก็บเกี่ยวหรือไม่ ให้เก็บผลจากจุดต่าง ๆของต้น มา 6-8 ผล จากนั้น ผ่าผลเพื่อดูเยื่อหุ้มเมล็ด หากเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมด แสดงว่าผลแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้  ทั้งนี้ต้องระวังด้วยว่า อะโวคาโด อาจมีการออกดอก 2 ชุด ทำให้ผลในต้นเดียวกัน แก่ไม่เท่ากัน ควรตรวจสอบจากลักษณะผลภายนอกด้วย ตามข้อมูลในตารางด้านล้างนี้

สายพันธุ์ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวอายุผล (วัน)*ลักษณะผล
1. ปีเตอร์สัน (Peterson)มิถุนายน – กรกฎาคม160ผลที่แก่และขั้วผลเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเขียวปนเหลือง เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล มีน้ำหนักแห้ง 22.2%
2. บูช-7 (Booth 7)กลางกันยายน – ตุลาคม170ผลที่แก่จะมีนวลที่ผิวผล สีผิวผลเป็นสีเขียว เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล มีน้ำหนักแห้ง 14.8%
3. บูช-8 (Booth 8)กันยายน – ตุลาคม177ผลที่แก่จะมีนวลที่ผิวผล สีผิวผลเป็นสีเขียว เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล มีน้ำหนักแห้ง 16.5%
4. บัคคาเนีย (Buccaneer)กลางกันยายน – กลางตุลาคม180 – 187ผลที่แก่จะมีนวลที่ผิวผล สีของผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย เกิดจุดประสีน้ำตาลบนผล มีน้ำหนักแห้ง 17.0%
5. พิงค์เคอตัน (Pinkerton)ตุลาคม – ธันวาคม309ผลที่แก่ผิวผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวเข้ม มีน้ำหนักแห้ง 30.0%
6. แฮส (Hass)พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์242 – 250ผลที่แก่ผิวผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีม่วงปนเขียว มีน้ำหนักแห้ง 24.7-29.0%

หมายเหตุ * อายุผลหลังจากดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ของช่อดอก

  • ข้อมูลจากเวปไซต์ โครงการหลวง
วิธีการบ่มอะโวคาโด ให้สุก

เมื่อเราเก็บ อะโวคาโด จากต้นแล้ว จำเป็นต้องมีการบ่มเพื่อให้สุก ก่อนรับประทาน การบ่มนั้นทำได้ง่ายๆ โดยการทิ้งผลไว้ที่อุณหภูมิห้อง  แต่หากต้องการเร่งให้ผลสุกเร็วขึ้น  ให้ใส่ผลอะโวคาโดในถุงกระดาษสีน้ำตาล แล้วปิดปากถุง หากไม่มีก็ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก็ได้ แล้วทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง  ระยะเวลาอาจเพียงแค่ 1 คืน หรือหลายวัน ขึ้นกับอะโวคาโดแต่ละผล   การทดสอบว่าผลสุกหรือยัง ให้ลองเอามือบีบผลเบา ๆ ถ้าผลบีบได้ ก็แสดงวาสุก  หรืออีกวิธีให้กดบริเวณขั้วผลเบา ๆ ถ้ากดได้แสดงว่าสุก

หากผลสุกแล้วให้นำผลอะโวคาโด แช่ตู้เย็นเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา  ไม่ควรนำผลดิบที่ยังไม่สุกแช่ตู้เย็นเพราะอาจทำให้ผลไม่สุกแล้วเน่าไปเลยก็ได้

การสกัดน้ำมันอะโวคาโด้

หากเรามีผลผลิตอะโวคาโด้ เหลือ หรือผลร่วง ไม่สามารถขายได้ เราสามารถนำผลเหล่านั้นมาสกัดเป็นน้ำมันอะโวคาโด้ได้  ทางเพจเราได้นำเสนอวิธีการง่าย ๆ ทำได้ในครัวเรือน ตามลิงค์ ด้านล่างนี้เลย

ข้อมูลอ้างอิง:

https://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/306