การปลูกมะคาเดเมีย

ต้นมะคาเดเมีย

มะคาเดเมีย  หรือ แมคคาเดเมีย เป็นพืชอุตสาหกรรมที่ตลาดโลกมีความต้องการในปริมาณสูง และดูเหมือนว่าความต้องการยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ    สามารถปลูกทดแทนป่าไม้ได้เป็นอย่างดีเนื่องจากเป็นพืชที่ไม่ผลัดใบ  มีอายุการให้ผลผลิตยาวนาน  เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลีย ต่อมา ได้ปลูกแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้ง ประเทศไทย  กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำพันธุ์มะคาเดเมีย ที่เหมาะสมสำหรับปลูกในประเทศไทย จำนวน 3 พันธุ์  และ สายพันธุ์อื่น ๆ  ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจได้แก่

1. พันธุ์เชียงใหม่ 400 (HAES 660)

  • มีลักษณะทรงต้นตั้งตรง  คล้ายปิรามิด ความสูงประมาณ 15-20 เมตร พุ่มแน่นกว้างประมาณ 10-15 เมตร
  • ขนาดผลเล็กถึงปานกลาง ทรงกลม กะลาบาง ผิวกะลาเรียบ เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน มีจุดลายประ น้ำหนักเมล็ดแห้งทั้งกะลาประมาณ 5-8 กรัม จำนวนเมล็ด/กก. ที่ 175-190 เมล็ด
  • เนื้อเมล็ดรูปร่างกลม สีขาว น้ำหนัก 1.5-2.7 กรัม/เมล็ด เปอร์เซ็นต์เนื้อหลังกะเทาะประมาณ 34 – 42% เปอร์เซ็นต์เมล็ด เกรด 1 ที่ 35 – 41% เปอร์เซ็นต์เนื้อลอยน้ำ 93-100 เปอร์เซ็นต์
  • ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) 11 – 17 กก.
  • เป็นพันธุ์เบา ดอกดก  เปลือกของผลบาง  ข้อจำกัด คือ ผลผลิตอาจลดลง เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น ควรมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อฟื้นต้น เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่สูงระดับ 400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ไม่ควรปลูกเป็นพันธุ์เดียวในพื้นที่ใหญ่ ๆ เพราะให้ผลผลิตต่ำ

2. พันธุ์เชียงใหม่ 700 (HAES 741)

  •  ทรงต้นต้นตรง พุ่มแน่น คล้ายปิรามิด ความสูงประมาณ 15-20 เมตร ทรงพุ่มกว้างประมาณ 10-15 เมตร
  • ขนาดผลปานกลาง กะลาบาง เมล็ดรูปร่างกลม ผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อน มีจุดลายประ น้ำหนักเมล็ดแห้งรวมกะลา 6 – 8 กรัม จำนวนเมล็ดต่อกิโลกรัม 135 – 150 เมล็ด
  • รูปร่างเนื้อในกลม น้ำหนักเนื้อในสูง และสม่ำเสมอ ดีกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 400 น้ำหนัก 1 เมล็ดประมาณ 2.0-2.9 กรัม เนื้อสีขาวสวย เปอร์เซ็นต์เนื้อหลังกะเทาะเปลือก 32-39 % เปอร์เซ็นต์เกรด 1 ที่ 31-37% เปอร์เซ็นต์ เกรดเนื้อในลอยน้ำได้ที่ 90-10%
  • ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) ประมาณ 13-21 กก. เจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่สูง  700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ขึ้นไป
  • พันธุ์นี้ผลร่วงง่ายหากขาดน้ำ  ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงติดผล หากต้องการผลผลิตที่สูง

3. พันธุ์เชียงใหม่ 1000 (HAES 508)

  • ทรงต้นกึ่งต้นตรง ทรงพุ่มแน่น แผ่กว้างกว่าทุกพันธุ์ ความสูงต้นประมาณ 15-20 เมตร ทรงพุ่ม กว้างประมาณ 12-15 เมตร
  • ขนาดผลปานกลาง เมล็ดรูปร่างกลม ผิวเรียบสีน้ำตาลอ่อน มีจุดประ มีรอยแตกสีดำชัดเจน
  •  กะลาหนาเล็กน้อย ขนาดเมล็ดเล็กปานกลาง น้ำหนักแห้งทั้งกะลา 5 – 8 กรัม จำนวนเมล็ดต่อกิโลกรัม 148-170 เมล็ด
  • รูปร่างเนื้อทรงกลม น้ำหนักประมาณ 107-205 กรัม/เมล็ด เนื้อสีขาว เนื้อหลังกะเทาะเปลือก 32-39 เปอร์เซ็นต์ เกรด 1 ที่ 30-38 เปอร์เซ็นต์ เนื้อในลอยน้ำที่ 84-100 เปอร์เซ็นต์
  •  ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) ประมาณ 21-33 กก. เนื้อในมีคุณภาพยอดเยี่ยม เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่อากาศหนาว ที่ระดับความสูง 1,000 เมตรขึ้นไป
  • เป็นพันธุ์ทนแล้งได้ดี แต่ไม่ทนร้อน หากปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า 700 เมตร มักมีอาการแพ้ความร้อน คือ ใบเหลืองซีด ขอบใบไหม้ ช่วงออกดอก ติดผลและเก็บเกี่ยว

4.  พันธุ์ CPK1  จากสวนภูเรือวโนทยาน

  • พันธุ์นี้ คาดว่ามาจากการกลายพันธุ์ของพันธุ์ HAES344   เป็นพันธุ์เบา เช่นเดียวกับพันธุ์  เชียงใหม่ 400   สามารถปลูกในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400 เมตรขึ้นไป สามารถออกดอกและติดผลได้ในปีที่ 2-3 พอถึงปีที่ 5-10 ก็สามารถให้ผลผลิตเป็นการค้าได้ โดยต้นอายุ 10 ปีจะให้ผลผลิต 10 กก./ต้น อายุ 15 ปี 15 กก./ต้น หลังอายุ 20 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิตเนื้อในกะลา (Nut in shell) ได้ถึง 20 กก./ต้น
  • พันธุ์นี้ไม่ทนลมแรง ควรปลูกไม้กันลม

5.  HAES791

  • ทรงพุ่ม เล็ก และตั้งครง  พันธุ์นี้เป็นพันธุ์์ เบาเช่นเดียวกับพันธุ์ CPK1 หรือ 660 ข้อดีของพันธุ์นี้คือ  จะให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อื่น ในช่วงปีแรก ๆ ของการปลูก ทำให้คืนทุนได้เร็ว   นอกจากนี้ ทรงพุ่มของพันธุ์นี้ยังเป็นทรงค่อนข้างโปร่งทำให้ ทนต่อลมพายุได้ดีกว่า

6. HAES246

  • ทรงพุ่มขนาดใหญ่ แผ่กว้าง   ในประเทศออสเตรเลีย พบว่าพันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูงที่สุดในพื้นที่ปลูกหลายแห่ง โดยเฉพาะในเขตอากาศค่อนข้างหนาว นอกจากนี้  พันธุ์นี้ยังออกดอกปริมาณมาก และระยะเวลาการออกดอกนาน จึงเหมาะสำหรับปลูกร่วมกับพันธุ์อื่นเพื่อช่วยผสมเกสร

7. HAES842

  • ทรงพุ่มค่อนข้างตั้งตรง  ข้อมูลจากประเทศออสเตรเลีย  เป็นพันธุ์ ที่ทนร้อนได้ดีที่สุดในบรรดาพันธุ์ที่ปลูกเพื่อการค้าในออสเตรเลีย ให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์อื่นในเขตอากาศค่อนข้างร้อน นอกจากนี้ พันธุ์นี้ยังออกดอกปริมาณมากและระยะเวลาออกดอกนาน จึงเหมาะที่จะปลูกร่วมกับพันธุ์อื่น เพื่อช่วยผสมเกสร  สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีรายงานทดสอบสายพันธุ์นี้

การปลูกและดูแลรักษา

การปลูกมะคาเดเมีย ควรปลูกอย่างน้อย 2-4 สายพันธุ์  คละกันในแปลง ทั้งนี้เนื่องจากมะคาเดเมียเป็นพืชที่ชอบผสมข้ามพันธุ์

ระยะปลูกสามารถเลือกได้  คือ 5×10 เมตร,  8×8 เมตร,  หรือ 8 x 10 เมตร และปลูกพืชแซมระหว่างแถวช่วง 10 ปีแรก  การปลูกระยะชิด มีข้อดีคือได้ผลตอบแทนเร็วกว่าแต่ต้องลงทุนเสียค่าต้นพันธุ์สูงกว่า และตั้งแต่ปีที่ 12-15 เป็นต้นไป จะมีปัญหาได้แสงน้อย ผลผลิตตก จะต้องตัดสางแถวเว้นแถวหรืออาจใช้วิธีตัดเล็มกิ่งข้างออก  นอกจากนี้ ระยะปลูกยังขึ้นกับสายพันธุ์ด้วย โดยสายพันธุ์ที่มีทรงพุ่มแคบ เช่น  660, 741 และ 791 จะต้องการระยะปลูกน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ทรงพุ่มแผ่กว้างเช่น 508 หรือ Own Choice

ขนาดหลุมปลูก 75 x 75 x 75 เซนติเมตร หรือ 1 x 1 x 1 เมตร ขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟตหลุมละ 1 – 2 กก. ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์โวก้า หรือปุ๋ยคอก

การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 500 กรัม/ต้น  2 ครั้ง/ปี  ช่วงต้นฝนและปลายฝน  และ สูตร 12-12-24 อัตรา 500 กรัม/ต้น ก่อนระยะออกดอก และติดผล (ต.ค.-พ.ย. และ ก.ค. – ส.ค. ) ของทุกปีเมื่อเริ่มให้ผลผลิต ทั้งนี้ ควรให้ปุ๋ยอินทรีย์โวก้า ร่วมด้วยในอัตรา 3-5 กก./ต้น  ทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยเคมี

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ระยะติดผล และผลกำลังพัฒนาไม่ควรขาดน้ำ

การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งทำระยะแรกที่เริ่มปลูกคือ 6 – 12 เดือนแรก เพื่อบังคับให้มีกิ่งหรือต้นประธานเพียง 1 กิ่ง เมื่อกิ่งประธานสูงเกิน 80 – 100 ซม. และยังไม่แตกกิ่งข้างต้องเด็ดยอดกิ่งประธานออก เพื่อให้กิ่งข้างแตกอย่างน้อย 2 – 3 กิ่ง และเลือกกิ่งตั้งตรงเพื่อใช้เป็นกิ่งประธานต่อไป หลังติดผลจะตัดเฉพาะกิ่งที่เป็นโรคและแน่นเกินไป

ดอกมะคาเดเมีย
ดอกมะคาเดเมีย
ผลมะคาเดเมีย
ผลมะคาเดเมีย

การเก็บเกี่ยว

พื้นที่ปลูกเหนือระดับน้ำทะเลช่วงออกดอกช่วงเก็บเกี่ยวอายุเก็บเกี่ยว(วัน)
800-1200 มพย-ธค และ กค-สคมิย-กย และ เมย-พค180-240
ต่ำกว่า 800มธค-กพกค-กย180-210

บนที่สูงออกดอกช่วง พ.ย.-ธ.ค. และ ก.ค.-ส.ค. อายุตั้งแต่ดอกบานถึงแก่ประมาณ 6 – 9 เดือน ขึ้นกับสถานที่ปลูก พื้นที่ที่สูงยิ่งเก็บเกี่ยวได้ช้า มะคาเดเมียเมื่อแก่ จะร่วงลงพื้น หลังเก็บผลต้องรีบกะเทาะเปลือสีเขียวข้างนอกออก เพราะถ้าผลกองรวมซ้อนกันมาก ๆ จะเกิดความร้อนทำให้เนื้อในคุณภาพไม่ดี การเก็บเมล็ดหลังกะเทาะเปลือกนอกออกแล้ว ควรผึ่งในที่ที่มีลมพัดผ่านสะดวกหรือวางบนตะแกรงเป็นชั้น ๆ เพื่อลดความชื้นก่อนเข้าตู้อบ  และกะเทาะเปลือกเมล็ด (กะลา) ออกต่อไป

ผลผลิต หลังปลูก 4 – 5 ปี เริ่มให้ผลผลิตปีแรก 1 – 3 กก./ต้น และเพิ่มขึ้นทุกปี อายุ 10 ปีขึ้นไป ให้ผลผลิต 20 – 30 กก./ต้น อายุ 20 ปีขึ้นไป 40 – 60 กก./ต้น สามารถมีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา

การขายผลผลิต สามารถขายในรูปเมล็ดทั้งกะลา ความชื้นประมาณ 10 – 15 % หรือกะเทาะกะลาออกและขายเนื้อในดิบ ความชื้นประมาณ 1.5 – 3 %

โรคและแมลงศัตรูพืช

  • โรคที่สำคัญ – โรคโคนเน่าหรือเปลือกผุ ใช้สารพวกแคปแทนพ่นที่ต้นและราดลงดิน
  • แมลงที่พบ – แมลงค่อมทอง กัดกินยอดอ่อน ใช้ยาเซฟวิน ฉีดพ่นช่วงระบาด
  • หนอนแทะเปลือกลำต้นและเจาะกิ่ง หรือ ลำต้น มักเข้าทำลายต้นที่มีอายุ 1-3 ปี
  • เพลี้ยอ่อน
  • สัตว์ศัตรู – หนู กระรอก กระแต แทะเมล็ดทั้งกะลา กำจัดโดยใช้เหยื่อล่อ

ข้อควรคำนึงในการปลูกมะคาเดเมีย

พื้นที่ที่เหมาะสม คือ พื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี หน้าดินลึก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,000 มม./ต่อปี อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 10 – 32 °C   ในฤดูหนาว มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยต่ำกว่า 18 °C อย่างน้อย 1 เดือน  เนื่องจาก ต้นมะคาเดเมียต้องได้รับอุณหภูมิต่ำสุดต่ำกว่า 18°C  เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อกระตุ้นการออกดอก ฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยไม่ควรเกิน 32 °C เพราะจะทำให้กะลาแข็งตัวเร็ว เนื้อในเล็กและพืชชะงักการเจริญเติบโต  ความชื้นบรรยากาศ ช่วงออกดอกและเริ่มติดผล ควรได้รับความชื้นสัมพัทธ์ มากกว่า 75% แสงแดด ควรได้รับแสงแดดวันละ 10 – 12 ชม. เพื่อปรุงอาหารได้เต็มที่ ทำให้เนื้อในมีคุณภาพดีขึ้น

จำนวนพันธุ์ปลูกใน 1 พื้นที่ ควรปลูกหลายพันธุ์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อช่วยการผสมเกสรและเพิ่มเปอร์เซ็นการติดผล   ควรมีไม้บังลมเพราะมีระบบรากตื้นทำให้โค่นล้มง่าย    การให้น้ำ ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ในช่วงฤดูแล้ง หากขาดน้ำจะทำให้ผลร่วงและมีขนาดเล็ก

ความคุ้มทุน ผลผลิตจะคุ้มทุนประมาณปีที่ 12 – 14 ขึ้นกับการดูแลรักษาและควรปลูกพืชแซมช่วง 10 ปีแรก   พื้นที่ปลูกที่เหมาะสม  กรมวิชาการเกษตรแนะนำว่า  ควรเป็นพื้นที่ที่มีความสูง ุ700 เมตรขึ้นไป จากระดับน้ำทะเล ถ้าเป็นพื้นที่ต่ำกว่า 700 เมตร คือ 400 – 600 เมตร ควรอยู่ในเขตเส้นรุ้งที่ 19.8 องศาเหนือขึ้นไป ได้แก่พื้นที่ทางภาคเหนือตอนบน

จริง ๆ แล้ว  การหาพื้นที่ ๆ เหมาะสมกับการปลูกมะคาเดเมียนั้น  ความสูงของพื้นที่เป็นเพียงการประมาณการคร่าว ๆ หากจะพิจารณาจริง ๆ ควรดู ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิเฉลี่ย ของพื้นที่นั้น ๆ จะดีกว่า  ข้อจำกัดเกี่ยวกับอุณหภูมิของพื้นที่ ที่เหมาะสมนั้น  ในฤดูหนาว ควรมีอุณหภูมิต่ำสุด เฉลี่ย ไม่เกิน 18 °C อย่างน้อย 1 เดือน (จริง ๆ แล้วข้อจำกัดของอุณหภูมิต่ำสุดอาจจะอุ่นได้ถึง 21 °C  แต่ผู้ปลูกควรทดสอบให้แน่ใจก่อนปลูกในปริมาณมาก ๆ)   และฤดูร้อน (มีนาคม ถึงพฤษภาคม)  ควรมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย ไม่เกิน 32 °C  ซึ่งเป็นไปได้ว่าพื้นที่สูงในเขตภาคกลาง  หรือภาคตะวันออก ก็อาจเหมาะสมกับมะคาเดเมีย ทั้งนี้การเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีความสำคัญมาก