การปลูกโกโก้

ต้นโกโก้

โกโก้ เป็นพืชเขตร้อน เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส ต้องการน้ำสม่ำเสมอ  พื้นที่ ที่เหมาะสมควรมีฝนตกสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หรือควรมีแหล่งน้ำเพียงพอ  ดินที่เหมาะสมควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร pH ประมาณ 6.5 โกโก้ชอบดินระบายน้ำดี แต่ก็สามารถทนน้ำท่วมได้ถึง 5 เดือน  โกโก้เป็นพืชที่ต้องการร่มเงาพอสมควร โดยเฉพาะต้นที่ยังเล็กอยู่

สายพันธุ์พันธุ์โกโก้ ที่ปลูกสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. ครีโอโล (Criollo) : ผลค่อนข้างใหญ่ สีแดง หรือออกเหลือง เปลือกบาง ผิวขรุขระ ก้นผลแหลม เมล็ดใหญ่สีขาว หรือม่วงอ่อน และมีกลิ่นหอม เป็นพันธุ์ที่อุตสาหกรรมช็อคโกแลตต้องการมาก แต่ไม่ทนต่อโรคแมลง จึงไม่เป็นที่นิยมปลูกในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  2. พันธุ์ Forastero  ลักษณะผลสั้น ผลสุกสีเหลือง ผิวเรียบไม่ขรุขระ มีร่องตื้น ๆ ตามแนวผล ให้ผลผลิตสูงกว่า Criollo  แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ
    1. เวสแอฟริกัน อมิโลนาโด (West African Amelonado)  :  เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดในปัจจุบัน  สามารถผสมตัวเองได้  และเมื่อปลูกด้วยเมล็ด มักไม่กลายพันธุ์ ทนทานต่อโรค แมลงได้ดี  แต่มักอ่อนแอต่อโรค ยอดแห้งและกิ่งแห้ง   โกโก้พันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาดมาก  ลักษณะของผลมีสีเขียว ค่อนข้างยาว เมื่อแก่มีสีเหลือง เปลือกหนา ก้นมน เมล็ดสีม่วงเข้ม ค่อนข้างแบน
    2. อัพเปอร์ อเมซอน (Upper Amazon):  ผลสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลือง เมล็ดสีม่วงเข้ม ให้ผลผลิตสูงกว่า และเร็วกว่า พันธุ์อมิโลนาโด
  3. ทรีนิ ตาริโอ (Trinitario) :  เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง Amelonado กับ Criollo คุณภาพเมล็ดสูงกว่าพันธุ์ อมิโลนาโด และต้านทานโรค แมลง แต่ผลผลิตต่ำกว่า Forastero  และเป็นพันธุ์ที่ต้องการผสมข้ามต้น ขยายพันธุ์โดยการติดตา หรือปักชำ
ผลโกโก้ Criollo
ผลโกโก้ Forastero
ผลโกโก้ Forastero

สำหรับในประเทศไทย มีการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสม ออกมาอย่างน้อย 2 สายพันธุ์คือ

  1. พันธุ์ลูกผสม ชุมพร 1 :  ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพเมล็ดดี  โดยให้ผลผลิตเมล็ดโกโก้แห้งสูงสุดตลอดเวลาการทดลอง 13 ปี สูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกประมาณ 31.4% ให้ผลผลิตเฉลี่ย 127.2 กก./ไร่  เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ไขมันสูงประมาณ 57.27%  ลักษณะผล ป้อม ไม่มีคอและก้นไม่แหลม ผิวผลเรียบ ร่องค่อนข้างตื้นเมล็ดมีเนื้อในเป็นสีม่วง   มีความทนทานต่อโรคกิ่งแห้งค่อนข้างสูง ทนทานต่อโรคผลเน่าดำปานกลาง  ลักษณะการผสมเกสร เป็นพวกผสมข้ามต้น ควรปลูกลูกผสมพันธุ์อื่นร่วมด้วยอย่างน้อย 1 พันธุ์ในแปลงเดียวกัน โดยปลูกคละปนกันไปเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร
  2. พันธุ์ลูกผสม I.M.1   พัฒนาพันธุ์ โดย ดร.สัณห์ ละอองศรี สาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่   ลักษณะเด่นคือ เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง เหมาะสำหรับปลูกในเขตภาคกลาง เหนือและอีสาน ให้ผลผลิตสูง เริ่มออกดอกติดผลและเก็บเกี่ยวได้ในปีที่ 3 หลังจากปลูก เมล็ดแห้งมีขนาดและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด เมล็ดมีปริมาณไขมันสูงเฉลี่ย 52 เปอร์เซ็นต์
โกโก้ พันธุ์ ชุมพร 1
โกโก้ พันธุ์ I.M.1
โกโก้ พันธุ์ I.M.1

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์โกโก้ สามารถทำได้ทั้งการติดตา ทาบกิ่ง แต่เที่กษตรกรไทยนิยมมากที่สุดคือการเพาะเมล็ด

การปลูก

โกโก้ เป็นพืชที่ทนร่มเงา และไม่ชอบแดดจัดเกินไป  การปลูกโกโก้ นั้น นิยมปลูกแซมในสวนมะพร้าว  เพราะปริมาณแสงแดดที่โกโก้ได้รับจะเหมาะสมพอดี ไม่มากและน้อยเกินไป  และโกโก้มีระบบรากลึก ไม่แย่งอาหารกับมะพร้าว ระยะปลูก ที่ให้ผลผลิตดีกรณีปลูกโกโก้เดี่ยว ๆ คือ 3×4 เมตร แต่ในมาเลเซียมีการปลูกมะพร้าว ระยะ 9×9 ม. แซมด้วยโกโก้ ระยะ 3×3 ม. ซึ่งได้ผลดี  โดยรายได้ของโกโก้ จะเป็น 2 เท่าของรายได้จากมะพร้าว และยังทำให้ผลผลิตมะพร้าวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย   การปลูกโกโก้ในสวนมะพร้าว ต้องปลูกต้นโกโก้ห่างจากต้นมะพร้าวอย่างน้อย 2 เมตร

หากมะพร้าวมีอายุมาก และต้นสูง แสงแดดอาจมากเกินไปสำหรับต้นโกโก้เล็ก ก็ควรพรางแสงทางมะพร้าว หรือปลูกปอเทืองรอบ ๆ ต้นโกโก้  เพื่อช่วยพรางแสง  สำหรับในประเทศไทยนั้น นอกจากมะพร้าวแล้ว ยังนิยมปลูกโกโก้ แซมสวนปาล์ม สวนยาง และสวนอื่น ๆ  หรือแม้กระทั่งการปลูก โกโก้ เป็นพืชเชิงเดี่ยว

ปลูกโกโก้แซมมะพร้าวแบบสี่เหลี่ยม
ปลูกโกโก้ แซมมะพร้าว แบบสามเหลี่ยม
ปลูกโกโก้ แซมมะพร้าว แบบสามเหลี่ยม

การตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งกิ่งมีจุดประสงค์หลัก 3 ประการคือ

  1. การตัดแต่งกิ่งเพื่อสร้างรูปทรงของต้น:   กิ่งข้างที่แตกออกจากต้น ในระดับต่ำกว่า 0.5 เมตร ควรตัดออกให้หมด  ไว้กิ่งข้างที่สมบูรณ์ ประมาณ 3-4 กิ่งรอบลำต้น   หากมีกิ่งกระโดง ขึ้นมาก็ควรตัดออก
  2. การตัดแต่งกิ่งเพื่อบำรุงรักษา :  ควรตัดกิ่งที่คดงอ ซ้อนทับกัน ปลายกิ่งเข้าหาลำต้น  กิ่งใกล้กันมาก ๆ กิ่งที่โน้มลงดินมากไป กิ่งฉีกหัก  ทั้งนี้เพื่อให้ กิ่งที่ออกผลแข็งแรง  และสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต
  3. การตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันโรค แมลง :  หากมีโรค หรือแมลง เช่น โรคกิ่งแห้ง โรคไหม้ หรือแมลงเจาะต้น ก็ควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคออกไปทำลายเพื่อป้องกันการระบาด และช่วยไม่ให้กิ่งทึบเกินไป ช่วยให้อากาศถ่ายเท ลดการระบาดของโรค

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่งคือ  การตัดแต่งใหญ่ ให้ทำช่วงปลายฤดูร้อนก่อนฤดูฝน  และการตัดแต่งกิ่งส่วนน้อย ให้ทำปลายฤดูฝน

การใส่ปุ๋ยโกโก้

สำหรับโกโก้ต้นเล็กให้ใส่ปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ย 15-15-6 ปริมาณ 40-100 กรัมต่อต้น

สำหรับโกโก้ที่ให้ผลผลิตแล้ว (หลังจากปีที่ 3)  ให้ใส่ปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยสูตร 12-12-17 ปริมาณ 100 กรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งช่วงต้นฝนและปลายฝน

โรคของโกโก้

โรคผลเน่าของโกโก้

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา  Phytophthora Palmivora

ลักษณะอาการ:  เกิดได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่  เริ่มแรกจะเกิดจุดใส ๆ ขึ้นที่ผิวของผล ต่อมาจุดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และดำอย่างรวดเร็ว และลามไปทั่วทั้งผล แผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ  ในผลแก่ เมล็ดจะแยกจากเปลือก หากแกะเมล็ดออกทันก็จะไม่ถูกเชื้อราทำลาย ส่วนในผลที่ยังไม่แก่ เชื้อจะลุกลามจากเปลือกเข้าไปถึงเมล็ด ทำให้เมล็ดเน่าเสียไปด้วย

การป้องกันและกำจัด

  1. เก็บฝักที่เป็นโรคออกจากต้น นำไปเผาทำลาย
  2. ฝักที่แกะเมล็ดแล้ว ไม่ควรกองไว้ ควรกำจัดโดยการเผาเช่นกัน
  3. ตัดแต่งกิ่งให้พุ่มโปร่ง เพื่อให้แสงและอากาศถ่ายเทสะดวก
  4. กำจัดวัชพืช ไม่ให้รกเกินไป
  5. หากเป็นโรค ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีที่มีส่วนผสมของทองแดง ซึ่งเป็นสารกำจัดเชื้อราชนิดดูดซึทเช่น มีทาแลคซิล มีชื่อการค้าเช่น ริโดมิล 5 จี,    เอฟรอล-35

โรคกิ่งแห้งของโกโก้

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Oncobasidium theobromae

ลักษณะอาการ:  มักเกิดกับกิ่งแก่หรือต้นกล้า  กิ่งที่เป็นโรค เริ่มแรกจะเห็นเส้นกลางใบ  ใบเหลืองซีด และมีจุดเขียวกระจายทั่วไป และแห้งเป็นสีน้ำตาลในเวลาต่อมา  บริเวณรอบ ๆ แผลสีน้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและใบร่วงหล่นในที่สุด  ใบที่อยู่บนหรือล่างจากใบที่ร่วง ก็จะเป็นสีเหลือง ทยอยร่วงหล่นลง  กิ่งที่เป็นโรคจะบวมขึ้น มีรอยปูดเล็ก ๆ เกิดตามเปลือก บริเวณที่ใบหลุดไป   ใบที่แตกออกมาใหม่จะเป็นกระจุก และแผ่นใบไม่แข็งเหมือนปกติ   ใบส่วนยอดที่เหลืออยู่ขอบใบจะแห้ง

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค แล้วนำไปเผาทำลาย
  2. คัดเลือกพันธุ์ต้านทานโรคมาปลูก  โดยพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้คือ พันธุ์ Omelonado  ส่วนพันธุ์ที่ค่อนข้างต้านทานโรคคือ พันธุ์ Amazon และ Upper Amazon
  3. โดยปกติไม่นิยมใช้สารเคมีในการกำจัดโรคนี้

โรคไหม้

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา  Marasmius Scandans

ลักษณะอาการ : มีเส้นใยสีขาวสานกันเป็นร่างแหปกคลุมใบ และกิ่งของโกโก้ ทำให้กิ่งและใบแห้งตาย

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งกิ่งและใบที่เป็นโรคออก แล้วเผาทำลาย
  2. หลังตัดแต่งกิ่งใช้สารเคมีพวกคอปเปอร์ ออกซิคลอไรด์  มีชื่อการค้าเช่น คิวไปรด์, คอบเปอร์ไซด์ หรือคูปราวิท โอบี 21 เป็นต้น

โรคแอนแทรคโนส

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา  Colletotrichum sp.

ลักษณะอาการ : เกิดในใบอ่อน อาการที่พบคือ ส่วนของขอบใบและปลายใบไหม้ และลุกลามไปถึงโคนใบ ทำให้ใบโค้งงอ ใบที่มีอายุมากหน่อยจะพบจุดสีน้ำตาลบนแผ่นใบและตามขอบใบ ซึ่งก็จะเกิดอาการไหม้ และใบโค้งงอเช่นกัน  โรคนี้เกิดได้ที่ผลอ่อนได้ด้วย อาการคือ ผลเน่าดำ  ผลที่แห้งไปหากมีความชื้นเพิ่มขึ้นมา จะมีสปอร์ของเชื้อราสีชมพูเกิดขึ้น

การป้องกันกำจัด

  1. เก็บผลหรือตัดใบที่เป็นโรคออกมาเผาทำลาย
  2. ใช้สารเคมีพวก แมนโคเซป หรือ คาร์เบนดาซิม ฉีดป้องกัน

แมลงศัตรูโกโก้

ปลวก

มักทำลายต้นโกโก้ที่ยังเล็กอยู่ ปลวกจะกัดกินบริเวณโคนต้น และลึกลงไปในดิน 2-3 เซนติเมตร ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด :  ใช้ยาประเภทดูดซึ่ม กลุ่ม คาร์โบฟูแรน ชื่อการค้าคือ ฟูราดาน 3% จี, คาบีดาน 3% จี ตามอัตราที่กำหนด คลุกเคล้ากันดินรองก้นหลุมปลูก

ด้วงปีกแข็งกัดกินใบ

จะกัดกินใบอ่อน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน

การป้องกันกำจัด :  ฉีดพ่นด้วยสารเคมี กลุ่ม โมโนโครโตฟอส ชื่อการค้าคือ ไซครอน, อโซดิริน, หรือดอลล่าร์-60  ตามอัตราที่กำหนดฉีดพ่นในช่วงเย็นหรือใกล้ค่ำ

เพลี้ยอ่อน

จะดูดน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะที่ยอดอ่อนของโกโก้ ระบาดมากช่วงฤดูฝนที่มีอากาศชื้น

การป้องกันกำจัด : ใช้ปุ๋ยที่มีส่วนผสมของแอคทีฟซิลิคอน จะช่วยป้องกันเพลี้ยได้ แต่หากยังระบาดให้ใช้ สารเคมีกลุ่ม โมโนโครโตฟอน หรือดัลดริน ชื่อการค้าคือ มิโดฟอส 600 หรือ ทามารอน  ฉีดบริเวณซอกใบอ่อน

มวนโกโก้

เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของโกโก้ มีลักษณะคล้ายยุงแต่โตกว่า มีหนวดยาวมาก 2 เส้น ลำตัวเขียวสลับดำ  มวนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและผล  ผิวของผลจะเกิดเป็นจุดตกกระเล็ก ๆ สีดำทั่วทั้งผล อาจมีการทำลายของเชื้อราซ้ำเติม ทำให้ผลเสียหาย และเน่าในที่สุด

การป้องกันกำจัด : รักษาแปลงปลูกให้สะอาด ตัดแต่งกิ่งให้พุ่มโปร่ง

การเก็บผล

โกโก้จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อย่างเข้าปีที่ 3  โดยโกโก้จะทยอยออกดอกเป็นรุ่นตลอดทั้งปี  โดยปกติจะห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์  หากดูแลดี โกโก้จะให้ผลผลิตตลอดทั้งปี  โดยจะเก็บเกี่ยวได้ 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง   อายุของผลนับจากดอกบานประมาณ 5-6 เดือน   ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลืองหรือแดง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์   การเก็บผลโกโก้นั้นควรใช้กรรไกรตัดขั้วผลออกจากกิ่ง ไม่ควรใช้มือเด็ด เพื่อป้องกันไม่ให้ขั้วผลช้ำ  เพื่อจะได้เกิดเป็นตาดอกและผลรุ่นถัดไป

การหมักโกโก้

ผลโกโก้ที่เก็บมาแล้ว  จะต้องผ่าผลแล้วแกะเมล็ดออกจากผลและไส้ที่ติดมากับเมล็ด แล้วนำเมล็ด  (พร้อมทั้งเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว)  มาหมักเพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้แห้งที่มีกลิ่น รส และคุณภาพที่ดี โดยผลที่จะนำมาหมักต้องสุกพอดี โดยดูจากสีผลที่เป็นสีเหลือง   ปริมาณเมล็ดโกโก้ที่เหมาะสมกับการหมักแต่ละครั้งอยู่ระหว่าง 50-100 กิโลกรัม  หรือประมาณ 500 ผล (ปริมาณต่ำสุดไม่ควรน้อยกว่า 30 กิโลกรัม)  เพื่อให้ได้กลิ่นและรสที่ดี

ข้อควรคำนึงในการหมักเมล็ดโกโก้

  1. เมล็ดที่แกะออกจากผล จะต้องทำการหมักในทันที และไม่มีการล้างเมล็ด และห้ามใช้น้ำล้างเมล็ด
  2. ภาชนะที่ใส่เมล็ดเพื่อหมักไม่ควรเป็นโลหะ เพราะเยื่อหุ้มเมล็ดมีกรดซึ่งจะทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้ได้กลิ่นและรสไม่เป็นที่ต้องการ ลังไม้ หรือเข่ง เป็นภาชนะที่เหมาะสมที่จะใช้ในการหมัก
  3. ภาชนะที่หมักจะต้องมีรูระบายของเหลวที่เกิดจากการสลายตัวของเยื่อหุ้มเมล็ดออกได้สะดวก
  4. อุณหภูมิในระหว่างการหมักจะสูงขึ้นจนถึง 50 องศาเซลเซียส  กลิ่นและรสของเมล็ดจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิประมาณ 48-50 องศาเซลเซียส  และต้องรักษาอุณหภูมินี้ให้ได้นาน 72 ชั่วโมง  ดังนั้น ปริมาณเมล็ดจึงต้องมีมากเพียงพอ และควรหาพลาสติกและกระสอบป่านคลุมภาชนะหมัก
  5. การคลุมเมล็ดด้วยใบตอง จะทำให้การหมักสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากใบตองมีจุลินทรีย์ ที่ช่วยในการหมักเมล็ด
  6. ต้องมีการถ่ายเทของอากาศด้วย ดังนั้นจึงต้องกลับเมล็ดทุก 48 ชั่วโมง (2 วัน)
  7. การผึ่งเมล็ดให้แห้ง อาจใช้การตากแดดหรือเตาอบ   การตากแดดให้ตากบนเสื่อหรือลานซีเมนต์ เกลี่ยเมล็ดที่ตาก ให้หนา 2-3 เซ็นติเมตร  และควรกลับเมล็ด เพื่อให้แห้งสนิททั่วทั้งเมล็ด  การตากแดดใช้เวลา 3-4 วัน  หลังตากแดดดีแล้ว เมล็ดจะมีความชื้นไม่เกิน 7.5%  ภายในเมล็ดจะเปลี่ยนสีเป็นสีโกโก้หรือสีน้ำตาลอ่อน  ก็นำมาบรรจุกระสอบ
คลุมลังไม้ด้วยกระสอบป่านเพื่อรักษาความร้อน
การหมักโกโก้ในเข่ง
การหมักโกโก้ในเข่ง

วิธีการหมัก

  1. การหมักโดยใช้เข่ง :  นิยมในหมู่เกษตรกรรายย่อย  ทำโดยบรรจุเมล็ด โกโก้สด (พร้อมเยื่อหุ้มเมล็ด) ลงในเข่ง ซึ่งบรรจุได้ประมาณ 25-30 กิโลกรัม  คลุมเมล็ดด้วยใบตอง 2-3 ชั้น แล้วยกเข่งไปตากแดด 2 วัน แล้วจึงถ่ายเมล็ดโกโก้ลงในเข่งใหม่ ซึ่งเป็นการกลับเมล็ดไปในตัว  จากนั้นคลุมด้วยใบตอง แล้วตากไว้อีก 2 วัน แล้วจึงถ่ายกลับลงไปในเข่งใบแรก สลับกันเช่นนี้จนครบ 7 วัน จึงนำเอาเมล็ดออกจากเข่งไปตากแดด เมล็ดโกโก้ที่บ่มได้ที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง หรือม่วงอมน้ำตาล ขึ้นกับสายพันธุ์
  2. การหมักในลังไม้ : ทำโดยบรรจุเมล็ดโกโก้สดลงในลังไม้ ขนาด 1.5x2x1 ฟุต ซึ่งบรรจุเมล็ดได้ 50 กิโลกรัม หรือ 3x4x2.5 ฟุต บรรจุเมล็ดโกโก้ได้ 700 กิโลกรัม โดย
    1. วันที่ 1:  นำเมล็ดโกโก้ใส่ลังในช่วงบ่าย
    2. วันที่ 2 : กลับเมล็ดโกโก้ในตอนเช้า คลุมลังด้วยใบตอง และคลุมทับอีกชั้นด้วยพลาสติกและกระสอบป่าน
    3. วันที่ 4 : กลับเมล็ดโกโก้
    4. วันที่ 6 : กลับเมล็ดโกโก้
    5. วันที่ 7:  เสร็จสิ้นการหมัก
    6. วันที่ 8-9 :  หากเมล็ดโกโก้มีกรดมากเกินไป และต้องการลดปริมาณกรด  ให้กลับเมล็ดโกโก้ทุก ๆ 2 ชั่วโมง โดยไม่ต้องคลุมพลาสติกและกระสอบป่าน วันละ 5 ครั้ง  โดยในระยะนี้ เมล็ดโกโก้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีกลิ่นของกรดน้อยลง
    7. วันที่ 10 : นำเอาเมล็ดออกจากลัง ไปทำให้แห้ง
  3. เมื่อเมล็ดมีการหมักได้ที่แล้ว  ก็จึงทำการตากเมล็ดให้แห้ง อาจใช้การตากแดดหรือเตาอบ   การตากแดดให้ตากบนเสื่อหรือลานซีเมนต์  เกลี่ยเมล็ดที่ตากให้หนา 2-3 เซ็นติเมตร  และควรกลับเมล็ด เพื่อให้แห้งสนิททั่วทั้งเมล็ด  การตากแดดใช้เวลา 3-4 วัน  หลังตากแดดดีแล้ว เมล็ดจะมีความชื้นไม่เกิน 7.5%  ภายในเมล็ดจะเปลี่ยนสีเป็นสีโกโก้หรือสีน้ำตาลอ่อน  จากนั้นให้นำมาบรรจุกระสอบเพื่อเตรียมจำหน่ายต่อไป
เมล็ดโกโก้ที่ถูกหมักจากวันที่ 1-7
เมล็ดโกโก้ที่ถูกหมักจากวันที่ 1-7
เมล็ดที่หมักสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์

วิธีการหมักโกโก้ แบบลุงนิตย์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

พอดีทางผู้เขียนได้ไปเจอคลิปของลุงนิตย์ เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญ การปลูกโกโก้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  แกมีวิธีการหมักโกโก้แบบง่าย ๆ และ ได้ผลดี โดย เริ่มต้นให้ ผ่าผลโกโก้ ออกเป็น 2 ส่วน  คว้านเอาเฉพาะส่วนเมล็ด  (ไม่เอาแกน)  จากนั้น นำเมล็ดโกโก้ ใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่  ใส่เมล็ดโกโก้ไปประมาณ 12 กิโลกรัม ผูกปากถุงด้วยเชือกให้แน่น  โดยให้มีพื้นที่ว่างปากถุง ประมาณสัก 30% ของขนาดถุง หมักไว้ 8 วัน ก็จะได้โกโก้ที่มีคุณภาพ

วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องกลับเมล็ดเลย  ความร้อนส่วนเกิน จากการหมักจะทำให้ถุงพลาสติกขาดเป็นรู และค่อย ๆ ถูกระบายออกจากถุง

มาตรฐานเมล็ดโกโก้แห้ง

เมล็ดโกโก้แห้งที่ดีนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นเมล็ดที่เต่ง ผิวเรียบไม่เหี่ยวย่น ขนาดของเมล็ดสม่ำเสมอ  แห้ง สะอาด มีเยื่อหุ้มเมล็ดติดอยู่น้อย ไม่มีสิ่งเจือปนเช่น  เปลือกผลโกโก้ ดิน ทราย  เมล็ดไม่จับกันเป็นก้อน  โดยเมล็ดที่ได้มาตรฐานมีลักษณะดังนี้

  1. ความชื้นของเมล็ดไม่เกิน 7.5%
  2. เปลือกหุ้มเมล็ดไม่ติดแน่นกับเนื้อเมล็ด  แต่ก็แข็งแรงพอที่จะไม่แตกหักง่าย  ไม่มีเยื่อหุ้มติดกับเมล็ดมาก
  3. ในการสุ่มตัวอย่างเมล็ดโกโก้แห้ง 200 เมล็ด นำมาผ่าตามความยาวเมล็ด  เมื่อนำจำนวนเมล็ดต้องมีคุณสมบัติดังนี้
    • เมล็ดที่เป็นราไม่เกิน 3%
    • เมล็ดที่เป็นสีเทา หรือสีหินชนวน มีไม่เกิน 3%
    • เมล็ดที่ถูกแมลงเจาะทำลาย  เมล็ดงอก และเมล็ดลีบเสีย รวมกันมีไม่เกิน 3%
    • เมล็ดสีม่วงมีไม่เกิน 20%

ผลผลิตโกโก้

ตารางด้านล่างเป็นผลผลิตโกโก้เฉลี่ยของ เกษตรกรรายย่อยในมาเลเซีย ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ เกษตรกรในมาเลเซียจะปลูกมะพร้าว ควบคู่กับโกโก้โดยปลูกมะพร้าวระยะ 9×9 เมตร แซมด้วยโกโก้ ระยะ 3×3 เมตร โดยพบว่าผลผลิตมะพร้าวเพิ่มขึ้นเมื่อแซมด้วยโกโก้

อายุโกโก้ (ปี)ผลผลิตโกโก้แห้ง (กิโลกรัมต่อไร่)
322.05
431.05
563.90
671.10
794.95
7-1399.90
14-1790.0
18-2181
22-2572.9

ส่วนราคาเมล็ดโกโก้แห้ง ในตลาดโลก นั้น เราสามารถเช็คได้จากเวปไซต์ของ International Cocoa Organization (www.icco.org)  ซึ่งณ เดือนธันวาคม 2559 ราคาอยู่ประมาณตันละ 2,400 US$  หรือ ประมาณกิโลกรัมละ  84 บาท

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

References:

การปลูกโกโก้,  สมศักดิ์  วรรณศิริ

http://www.doa.go.th/hrc/chumphon/

http://www.cocoathailandcenter.com/

Coconut-Cacao (Cocoa) Cropping Model,  Severino S. Magat, PhD1 and Millicent I. Secretaria, MSc2