ซิลิคอน กับการเกษตรกรรม

โดย ดร.พงศ์เทพ  อันตะริกานนท์

ในประเทศที่มีการพัฒนาทางการเกษตรจนมีความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอีกหลายประเทศในยุโรป ได้มีการวิจัยและพัฒนาแร่ธาตุและสารประกอบต่างๆเป็นจำนวนมากใช้ในการเพิ่มประสิพธิภาพของปุ๋ยเคมี มีใช้ในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของดิน รวมทั้งปรับปรุงทางกายภาพของดินให้มีความร่วนซุย ระบายน้ำระบายอากาศได้ดี การเติบโตของจุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์เป็นไปอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้พืช และรากพืชเจริญเติบโต หยั่งรากลึกและแผ่กว้างตามศักยภาพของสายพันธุ์ ทำให้สามารถดูดซับธาตุอาหารจากดินได้อย่างดียิ่ง

นอกจากนี้สารบางชนิด ยังทำหน้าที่นำพาธาตุอาหารพืชไปยังส่วนต่างๆของพืชที่ต้องการธาตุนั้นๆได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พืชเจริญเติบโตให้ผลผลิตสูงสุดตามศักยภาพของสายพันธุ์พืชนั้น ส่งงผลให้เกษตรกรมีรายได้และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทำให้อาชีพทางการเกษตรมีความมั่นคงและยั่งยืนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้แสวงหาความรู้ นักวิจัย นักวิชาการ รวมทั้งผู้สนใจที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ ตามต้องการ

สารประกอบตัวแรกที่จะเขียนขึ้นคือ “ซิลิคอน” ธาตุมหัศจรรย์ที่เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว

ก่อนอื่นต้องเกริ่นนำทำความรู้จักเสียก่อน ดังนี้

1.สิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เจริญเติบโต ดำรงชีพอยู่ได้ จำเป็นต้องได้รับธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน ในน้ำ ในอากาศ พืชสามารถสร้างอาหารได้เอง โดยการเปลี่ยนพลังงานจากแสงแดดรวมกับแร่ธาตุจากอากาศ น้ำ และดิน ให้เป็นอาหารสำหรับสร้างพลังงานให้มนุษย์ และสัตว์ที่กินพืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “ดิน” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแร่ธาตุที่เป็นอาหารของพืช จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์และสัตว์ที่อาศัยอยู่บนโลก แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละปี ดินจะสูญเสียธาตุอาหารในปริมาณมากโดยติดไปกับ “ผลผลิต” ที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละปีอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ความอุดมสมบูรณ์ของดินมีผลโดยตรงต่อ “ผลผลิต”ที่จะได้รับ

2.แหล่งอาหารพืช

แหล่งอาหารหลักของพืชได้มาจากดิน น้ำและอากาศ ในขณะที่ออกซิเจน ไฮโตรเจน และคาร์บอนเป็นสารอาหารตามธรรมชาติที่พันธุ์พืชต่าง ๆ ต้องการในปริมาณที่มากเพื่อเป็นสารตั้งต้นในการสร้างคาร์โบไฮเดรตตามกระบวนการสังเคราะห์แสง

สารอาหารชั้นต่อไปที่พืชต้องการคือสารอาหารที่ได้จากดิน ซึ่งในดินมีสารอาหารตามธรรมชาติที่พันธุ์พืชต้องการ 92 ชนิด แต่เป็นสารอาหารที่พันธุ์พืชต้องการใช้ในการเจริญเติบโตจริงๆประมาณ 16 ชนิด เท่านั้น สารอาหารตามธรรมชาติที่ได้จากดินสามารถแบ่งออกเป็น 2 จำพวก ได้แก่ สารอาหารอาหารมหัพภาค (Marco Nutrients) และสารอาหารจุลภาค (Micro Nutrients) โดยสารอาหาร มหัพภาคประกอบด้วยสารอาหารธรรมชาติ จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส(P), โปแตสเซียม(K), แคลเซียม(Ca), กำมะถัน(S), และแมกนีเซียม(Mg) ในขณะที่สารอาหารจุลภาคประกอบด้วยธาตุเหล็ก แมงกานิส โบรอน ทองแดง สังกะสี โมลิบดินัม คลอรีน นิกเกิล ซิลิคอน และอื่นๆ

ซิลิก้า (SiO2) เป็นชื่อของสารอาหารพืชชนิดหนึ่งที่พบในดิน โดยปกติแล้วจะพบสารอาหารต่างๆ ถึง 92 ชนิด ในชั้นดินธรรมชาติและซิลิคอนก็คือสารอาหารที่มีปริมาณมากเป็นอันดับ 2 คือร้อยละ 27.7 รองจากออกซิเจน สารอาหารซิลิคอนนี้สามารถพบได้ในปริมาณร้อยละ 60 ของสารอาหารที่พบในชั้นหน้าดินด้วย สารอาหารธรรมชาติที่มีสารซิลิคอนผสมอยู่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรกที่อยู่ในรูปของผลึกคริสตัล (ของแข็ง) ที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ คือ ซิลิก้า (ทราย SiO2 ) และซิลิเคต (ดินเหนียว SiO2)ในขณะประเภทที่สองจะอยู่ในรูปแบบ “ของเหลว” ซึ่งพืชสามารถดูดซึมได้ทันทีได้แก่ กรดซิลิซิค (H4 SiO4) การย่อยสลายซิลิเคต ที่อยู่ในรูปของผลึก ไปสู่การเป็นของเหลวที่เรียกว่า กรดออร์โทซิลิซิคนั้นจะต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายถึง 3 ขั้นตอน ได้แก่ กระบวนการทางกลศาสตร์ กระบวนการทางเคมี กระบวนการทางชีววิทยา

3.การเคลื่อนย้ายซิลิคอนออกจากดิน

ถึงแม้ซิลิคอนจะเป็นสารอาหารพืชที่มีอยู่ในดินตามธรรมชาติ มีปริมาณมากเป็นอันดับสอง คือ ร้อยละ 27.7 รองจาก ออกซิเจน ธาตุซิลิคอน ก็เหมือนกับธาตุอาหารอื่นๆ ที่สูญเสียหรือถูกเคลื่อนย้ายออกจากดินในพื้นที่เพาะปลูก ประมาณกันว่าธาตุซิลิคอนถูกนำออกจากพื้นที่เพาะปลูกระหว่าง 7-48 กก/ไร่ ในแต่ละรอบการเพาะปลูกในปี ค.ศ.1998 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ รายงานว่า ซิลิคอนที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพียงธาตุเดียวสูญเสียจากดินโดยติดไปกับ “ผลผลิต” และส่วนของพืชในปริมาณ 210-224 ตัน/ปี

แหล่งกำเนิดของซิลิคอน มีแหล่งกำเนิดดังต่อไปนี้

ซิลิคอนในดิน

ซิลิคอนจากหินแร่ภูเขาไฟ

ซิลิคอนจากทราย
• ทรายแก้วนำไปผลิตกระจก และเครื่องใช้ต่างๆมีซิลิก้าเกือบ 100 %
• ทรายหิน เป็นหินภูเขา ซึ่งมีซิลิก้าสูงถึง 80-90 %
• ทรายขนาดต่างๆที่อยู่ในดิน เช่น ดินทราย ดินร่วนปะปนทราย
• ทรายปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นทรายมีส่วนผสมของธาตุอาหารๆ ซึ่งทับถมกันมาเป็นล้านๆปี
• ทรายเกิดจากภูเขาไฟ เรียกว่า “ซิโอไลท์” ก็นำมาใช้ได้บ้างแต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรส่วนมากจะนำไปใช้ในบ่อกุ้ง

หินแร่ภูเขาไฟ และทรายปากแม่น้ำจะเป็นแหล่งผลผลิตธาตุซิลิคอนที่มีประโยชน์ต่อพืชมากที่สุดโดยเฉพาะหินแก้วภูเขาไฟ ซึ่งจากการวิเคราะห์ส่วนประกอบทางเคมีของหินภูเขาไฟจากเขาพนมฉัตร จังหวัดลพบุรี โดยฝ่ายวิเคราะห์แร่และหิน กองวิเคราะห์ กรมทรัพยากรธรณี ปรากฏผลวิเคราะห์ทางเคมีเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักของออกไซด์ของธาตุหลัก และรายงานเป็นหน่วยส่วนต่อล้าน (ppm) ของจุลธาตุ คือ

ออกไซด์หลัก %โดยน้ำหนัก

ซิลิก้า(SiO2) 69.77

อะลูมินา (AL203) 14.69

เฟอร์ริกออกไซด์ (Fe203) 1.22

แมกนีเซียมออกไซด์ (Mgo) 0.28

แคลเซียมออกไซด์ (CaO) 1.08

โพแทสเซียมออกไซด์ (K20) 4.77

ฟอสฟอรัสเพนทอกไซด์ (P205) 0.03

ส่วนที่หายไปหลังการเผา 4.72

ความชื้น 0.58

จุลธาตุโบรอน 0.03%

แมงกานีส 0.03%

ทองแดง 4 pmm.

โมลิบตินัม 6 ppm.

สังกะสี 30 ppm.

ส่วนประกอบทางเคมีเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชเพิ่มความต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช ต่อความเครียดของสภาพแวดล้อมและต่อความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.ซิลิคอนกับการเจริญเติบโตของพืช

แม้ว่าซิลิคอนไม่ถูกจัดเป็นธาตุอาหารที่จำเป็น (essential element) สำหรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของพืช แต่ซิลิคอนมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช และเพิ่มผลผลิตอย่างเด่นชัดในพืชหลายชนิด เช่น ข้าว อ้อย แตงกวา พืชผัก ผลไม้ เป็นต้น ซิลิคอนสามารถให้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกรณีพืชที่ปลูกได้รับความเค้น (Strees) จากทั้งสิ่งที่มีชีวิต เช่น โรคแมลง หรือสิ่งไม่มีชีวิต เช่น สภาพแล้ง หรือน้ำค้างแข็ง ซิลิคอนสามารถช่วยบรรเทาความเสียหายจากสภาพเค้นเหล่านั้นได้ ซิลิคอนจะช่วยส่งเสริมให้ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช เพิ่มการสังเคราะห์แสง ปรับปรุงโครงสร้างพุ่มต้นควบคุมการคายระเหยน้ำ ตลอดจนช่วยเพิ่มความทนทานของพืชต่อพิษของธาตุต่างๆ เช่น เหล็กและแมงกานีส เป็นต้น ซิลิคอนจึงเป็นธาตุเสริมประโยชน์ หรือ beneficial element สำหรับพืช

5.บทบาทสำคัญของซิลิคอนต่อพืช

ซิลิคอนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และสามารถทำให้พืชทนทานต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง อุณหภูมิสูง หรือสภาวะอากาศที่มีความแปรปรวน แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ซิลิคอนในการเพาะปลูกพืชได้ถูกละเลยมาเป็นระยะเวลาช้านาน เนื่องจากในดินมีปริมาณซิลิคอนค่อนข้างสูง ทำให้พืชสามารถดูดซิลิคอนไปใช้ได้มากกว่าธาตุอาหารอื่นๆที่มีอยู่ในดินตามธรรมชาติ แต่ประเทศที่ได้มีการศึกษาวิจัย และได้เห็นคุณค่าซิลิคอนต่อการปลูกพืช คือประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการเกษตรค่อนข้างสูง โดยในทวีปเอเซีย งานวิจัยและทดลองซิลิคอนต่อการเจริญเติบโตพืชได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ได้มีการทดลองในเรือนกระจกและการทดลองภาคสนามทั้งใน ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไต้หวัน ประเทศเกาหลี รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบว่า ซิลิคอนได้ก่อประโยชน์ให้แก่พืชหลายชนิดดังได้กล่าวมาแล้ว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ความเห็นปัจจุบันนี้มองไปว่าซิลิคอนเป็นธาตุเฉี่อยในแง่ของการเกษตร และทางเสรีระของพืช (physiology) ถึงแม้ว่าซิลิคอนทางเคมีธรณีวิทยาเป็นธาตุที่มีปฏิกิริยาและการให้ปุ๋ยซิลิคอน มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม

6.ผลการศึกษา วิจัย และพัฒนา เพื่อหาความรู้ของการใช้ซิลิคอนในการปลูกพืช ได้มีผลการศึกษาการใช้ปุ๋ยซิลิคอนในประเทศต่างๆ โดยสรุปพบว่าซิลิคอนมีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของพืชดังต่อไปนี้
• ทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง
• เพิ่มความทนทานต่อการถูกทำลายเสียหาย
• เพิ่มความต้านทานโรคแมลงศัตรูพืช
• มีการเติบโตที่แข็งแรงทรหดลำต้นตั้งตรง
• เพิ่มอัตราการงอกของยอดอ่อน เพิ่มความหนาแน่นของระบบราก เพิ่มผลผลิต
• เพิ่มความต้านทานต่อสภาวะแห้งแล้ง
• ลดการระเหยของน้ำให้ช้าลง
• เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าแทนที่ของอิออนบวกในดิน เพิ่มประสิทธิภาพของธาตุบำรุงพืช
• แม้อุณหภูมิตอนกลางวันสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ก็ไม่พบสภาพสูญเสียน้ำ หรือเหี่ยวเฉา แสดงว่าปุ๋ยซิลิคอนช่วยลดการระเหยน้ำ สามารถทนร้อนได้ดี
• ลำต้นตั้งตรง ทำให้ลมพัดผ่านได้ดี มีผลช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช

7.ซิลิคอนกับประเทศไทย

ในประเทศไทย มีการนำธาตุซิลิคอนไปใช้ในการเกษตรกันน้อยมาก อาจเป็นเพราะหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขาดความรู้ ความเข้าใจ ไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวาง ไม่มีการส่งเสริม ทำให้ประชาชนขาดความรู้ถึงประโยชน์ของการใช้ซิลิคอนเหมือนกับปุ๋ยทั่วๆไป และแหล่งวัตถุดิบที่เป็นต้นกำเนิดของซิลิคอนที่เป็นประโยชน์หาได้ยาก จนในช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการและภาคเอกชนจำนวนหนึ่งได้เริ่มทำการวิจัย และทดลองการใช้ซิลิคอนที่ผ่านกระบวนการผลิตจากแร่ธาตุที่มีในประเทศไทยมาให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดไปใช้ได้ และได้นำมาเผยแพร่ ตลอดจนมีการจัดจำหน่ายในรูปของธุรกิจ ทำให้ความรู้และความเข้าใจของซิลิคอนต่อประโยชน์ของการเจริญเติบโตของพืชได้กระจายไปอย่างกว้างขวาง

8.ผลที่ได้รับจากการใช้ซิลิคอนในประเทศไทย

ในช่วง 30ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการนำเอาซิลิคอนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพืชหลายชนิดเช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และพืชผัก พอสรุปได้ดังนี้

ข้าว: ซิลิคอนทำให้ต้นข้าวมีระบบรากแข็งแรง สมบูรณ์มีรากจำนวนมาก ต้นข้าวเจริญเติบโตดี แตกกอมาก ต้นไม่ล้ม ใบข้าวตั้งขึ้น สามารถรับแสงแดดได้อย่างทั่วถึง อากาศถ่ายเทดี ช่วยลดการเกิดโรคและลดการสะสมของแมลง ซิลิคอนช่วยให้ใบข้าวมีความเหนียวและแข็งแรง ต้นข้าวทนต่อการเข้าทำลายของแมลง อาการขาดซิลิคอนในข้าว ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์ แตงกวาและยาสูบ ทำให้การเจริญเติบโตลดลง พืชที่ขาดซิลิคอนต้องการน้ำมากขึ้น ความต้านทานต่อโรคราน้ำค้างลดลง เช่น ในแตงกวา มะเขือเทศ ถั่ว และยาสูบ

อ้อย: ผลิตภัณฑ์จากซิลิคอน สามารถปรับสภาพดินในแปลงปลูกอ้อยให้ร่วนซุย แก้ดินกรดและป้องกันการเป็นพิษของเหล็กและแมงกานีส ทำให้อ้อยมีรากยาวขึ้น มีปริมาณรากมาก มีหน่อมาก แตกกอมากขึ้น อ้อยเจริญเติบโตแข็งแรงใบตั้งชัน รับแสงแดดได้มาก จึงไปเพิ่มอัตราการสังเคราะห์แสง ลำเลียงน้ำตาลจากใบไปเก็บสะสมไว้ที่ลำต้นได้มากขึ้นมีความหวานมากขึ้น ผลผลิตเพิ่มอาจถึง 55%

ซิลิคอนช่วยกระตุ้นให้ต้นอ้อยเพิ่มความสามารถในการป้องกันตัวต่อสภาพกดดัน หรือสภาพเค้นที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ป้องกันโรคใบด่าง (leaf fleckle) ราสนิม (sugarcane rust) และไวรัสจุดวงแหวน (sugarcane ringspot) ปุ๋ยซิลิคอน ก่อให้เกิดผลบวกต่อคุณสมบัติทางกายภาพ และเคมีของดินได้มากกว่าการเติมวัสดุพวกปูน การใช้ผลิตภัณฑ์ซิลิคอนร่วมกับปุ๋ยเคมีในแปลงปลูกอ้อยที่ลพบุรีทำให้อ้อยสมบูรณ์โตไวผลผลิตต่อไร่เพิ่มจากเดิมที่ได้น้อยกว่า 10ตัน/ไร่ ความหวาน 7-8 ccs เป็น 12ตัน/ไร่ ความหวาน 12-13 ccs นอกจากนี้ซิลิคอนยังแก้ปัญหาอ้อยบวชใบเหลือง อ้อยไม่กินปุ๋ย โตช้า ผลผลิตต่ำ ความหวานไม่ดี ให้กลับเป็นอ้อยที่มีคุณภาพสูง

มันสำปะหลัง : ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์จากซิลิคอนต่อการปลูกมันสำปะหลังอย่างหนึ่ง คือ ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย โปร่งพรุน มันสำปะหลังจึงลงหัวได้สะดวก เก็บเกี่ยวได้ง่าย ช่วยดูดซับปุ๋ย ลดการถูกชะล้าง ปรับค่าความเป็น กรด-ด่าง ไม่ให้สูงเกินไป เพราะมันสำปะหลังไม่ทนต่อสภาพดินด่างทำให้รากงอกจากท่อนพันธุ์ได้ง่าย มีรากมาก ต้นมีระบบรากลึก แข็งแรงทนต่อความแห้งแล้งได้นานใบสังเคราะห์แสงได้ดี สร้างอาหารได้มาก ช่วยลำเลียงอาหารจากใบไปสะสมที่รากได้มากขึ้น หัวมันมีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น เปอร์เซ็นต์แป้งเพิ่มขึ้น ผลผลิตเพิ่มอาจสูงถึง 100% ซิลิคอนที่สะสมอยู่ในชั้นเซลล์ผิว ทำให้มีความแข็งแกร่งสามารถต้านทานต่อการเข้าทำลายของแมลง ไร และโรคได้ดีขึ้น

ข้าวโพด : การใช้ผลิตภัณฑ์จากซิลิคอนกับข้าวโพดหวาน ไม่พบโรคโคนเน่า ราสนิม ผลิตผลฝักข้าวโพดมีผิวสวย ไม่มีจุดหรือรอยด่างสีน้ำตาลที่เกิดจากเชื้อรา ขนาดฝักใหญ่ สมบูรณ์ อาจถึง 2 ฝัก/กก. เมล็ดข้าวโพดมีสีเหลือง มันวาวกว่าที่ไม่ได้ใช้แร่ชนิดนี้ ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและยาลงได้มาก ผลผลิตเพิ่มขึ้น

ยางพารา : การใช้ซิลิคอนกับยางพารา จะช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์เนื้อยางในน้ำยางพาราสูงขึ้น ซึ่งปกติเปอร์เซ็นต์เนี้อยางในน้ำยางพาราจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 35-37 แต่เมื่อใช้ซิลิคอนผสมปุ๋ยเคมีจะช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์เนื้อยางในน้ำยางพาราเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 ทั้งยังทำให้หน้ายางอ่อนนุ่ม หน้ายางไม่ตายนึ่งมีอายุการกรีดได้นาน และยังมีความทนทานต่อโรคไพทอบโทรา (phytoptoera) และทำให้ผลผลิตยางเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20-30%

ปาล์มน้ำมัน : ซิลิคอนช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันและผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ปกติในประเทศไทย ผลผลิต เฉลี่ยประมาณ 2.7ตัน/ไร่ แต่การใช้ซิลิคอนในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20-30 % เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม (CPO) ซึ่งปกติอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17 จะเพิ่มขั้นเป็นประมาณร้อยละ 20 รวมทั้งทำให้ต้นปาล์มมีความต้านทานต่อการเข้าทำลายของหนอนร่าน (หนอนปลอก) ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของปาล์มน้ำมัน

มะพร้าว : ในช่วง 2-5 ปีที่ผ่านมา มีการระบาดของแมลงตำหนาม และหนอนหัวดำ เข้าทำลายพื้นที่ปลูกมะพร้าว โดยเฉพาะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อเนื่องกันมาอันเนื่องมาจากสภาพความแห้งแล้งของภูมิอากาศแต่ในสวนมะพร้าวที่ใช้ซิลิคอน ร่วมกับปุ๋ยเคมีไม่พบว่ามีการระบาดของแมลงตำหนามหรือหนอนหัวดำแต่ประการใด และยังสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยทดลองใช้ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ มะพร้าวที่ปลูกไว้จำนวน 598 ต้น ทุกๆปีจะเก็บผลผลิตได้เพียง 1,600 กว่าผลและผลผลิตที่เก็บได้จะมีขนาดเล็ก แต่หลังจากใช้ซิลิคอนร่วมด้วยปีต่อมาสามารถเก็บผลผลิตได้มากขึ้นถึง 4,000 ผลและแต่ละผลจะมีขนาดใหญ่ เกรดเอ ทั้งหมด

พืชผัก : ได้มีการใช้ซิลิคอนในการปลูกผักปลอดสาร ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ ปรากฏว่าผักที่ปลูกภายใต้กระบวนการ GAP สามารถทำให้ผลผลิตผักเพิ่มขึ้น มีคุณภาพในการบริโภค และที่สำคัญ สามารถลดการเข้าทำลายของแบคทีเรียซึ่งเป็นปัญหาของการปลูกผัก ทั้งในพื้นที่กลางแจ้งและในโรงเรือน

9.ประโยชน์และคุณสมบัติของซิลิคอน

ประโยชน์ของซิลิคอนที่มีต่อการปลูกพืชดังได้กล่าวมาแล้ว จึงมีคำถามว่า ทำไมเกษตรกรของเรายังคงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากซิลิคอนได้อย่างเต็มที่

คำตอบก็คือ การที่ประเทศไทยยังมีการวิจัย ทดลอง ทดสอบหรือความเข้าใจเกี่ยวกับสารซิลิคอนน้อยขาดการส่งเสริม และการนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

กรดซิลิซิค เป็นสารอาหารในรูปของเหลวที่ดูดซึมง่ายและมีคุณสมบัติเหมือน สารอาหารอื่นๆในดิน ได้แก่ ฟอสเฟต โพแตสเซียม และอื่นๆ พืชที่ได้รับกรดซิลิซิค จะช่วยให้พืช
• มีการสร้างความเข็มแข็งให้แก่ผนังเซลล์ของใบพืช ลำต้นและราก ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรคพืชต่างๆและแมลงศัตรูพืช รวมไปจนถึงการสร้างความคงทนต่อสภาพแห้งแล้งโดยการสร้างกระบวนการกักเก็บน้ำให้แก่พืช ป้องกันการเกิดโรค รวมไปจนถึงสร้างความแข็งแรงต่อลำต้น เช่นข้าว
• เสริมสร้างการผลิตคลอโรฟิลด์เพื่อเพิ่มกระบวนการสังเคราะห์แสงที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มผลผลิตให้กับต้นปาล์มน้ำมัน รวมไปจนถึงเพิ่มน้ำยางให้แก่ต้นยางและปริมาณข้าวของรวงข้าวให้สูงขึ้น
• แยกฟอสเฟตที่จับตัวกัน : ปุ๋ยฟอสเฟตที่โปรยไปบนหน้าดินมีสภาพของความเป็นกรดจะจับตัวสารอาหารธรรมชาติอื่น แล้วแปลงสภาพเป็นสารที่ต้นพืชไม่สามารถดูดซึมได้ กรดซิลิซิคจะช่วยแยกฟอสเฟตที่จับตัวกันในดินให้กลายรูปเป็นกรดฟอสฟอริคที่ต้นพืชสามารถดูดซึมได้

ซิลิเคต มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บสารอาหารและน้ำในดิน ซิลิเคตจะเพิ่ม ความสามารถในการแลกเปลี่ยนสารอาหาร ในดิน ซึ่งจะช่วยในการดูดซึมปุ๋ยที่ถูกใส่ลงดินได้แก่ โปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม แอมโมเนีย และสารอาหารอื่นๆ เพื่อนำมาเก็บสำรองไว้ใช้ประโยชน์ ความสามารถในการแลกเปลี่ยนสารอาหารนี้ คือ ระดับความสามารถของพืชในการดึงสารอาหารที่มีอยู่ในดินเหนียวและดินร่วน พืชจะปล่อยไอออนไฮโดรเจนเพื่อแลกเปลี่ยนสารอาหารที่ต้องการจากดินเหนียวหรือดินร่วน ได้แก่ แมกนีเซ๊ยม และโปแตสเซียม การผสมผสานระหว่างปุ๋ยเคมี N.P.K.จะช่วยลดการสูญเสียสารอาหารอันเกิดจากการกัดเซาะหน้าดิน หรือหน้าดินถูกทำลาย ซิลิเคตจะช่วยลดสารพิษอลูมิเนียมโดยการเปลี่ยนอลูมีเนียมไปสู่อลูมิโนซิลิเคต ซึ่งไม่มีพิษ